เปิดรับข้อเสนอโครงการทุนวิจัยเพื่อนวัตกรรมสำหรับการจัดการปัญหาโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)
สำนักวิจัยและพัฒนา ขอเชิญผู้สนใจส่งรับข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อนวัตกรรมสำหรับการจัดการปัญหาโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงต่อสุขภาพและระบบเศรษฐกิจสังคมของมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ กระบวนการจัดการกับปัญหาจึงต้องอาศัยการประมวลข้อมูลความรู้ใหม่และการประยุกต์ข้อมูลความรู้เหล่านั้นเข้ากับข้อจำกัดทางทรัพยากรและบริบททางสังคมของประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้พื้นฐานที่มีศักยภาพใน การนำไปใช้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักวิจัยและพัฒนา และอุทยานวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดให้กับนักวิจัยภายในมหาวิทยาลัยในลักษณะโครงการวิจัยสหสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อดึงศักยภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน
ขอบเขตงานวิจัย
โจทย์วิจัยต้องเป็นการนำผลงานวิจัยที่เกิดสภาพปัญหา (pain points) ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิดสิบเก้า มาวิจัยต่อยอดความรู้ไปสู่ผลงานที่มีผลกระทบสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านพาณิชย์ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ หรือด้านชุมชนและพื้นที่ หรือสามารถนำไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ดำเนินการ สามารถระบุแนวทางที่จะนำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
1. ลักษณะโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุน
1.1 เป็นโครงการวิจัยที่เกิดจากการต่อยอดจากองค์ความรู้พื้นฐานของผู้เสนอโครงการ ในเชิง การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน
1.2 ผลงานจากทุนวิจัยประเภทนี้ ได้แก่ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านพาณิชย์ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ และด้านชุมชนและพื้นที่ หรือการสร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ หรือเป็นผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์/กระบวนการต้นแบบ เป็นต้น โดยสามารถระบุได้ว่าผลงานมีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร จะนำไปใช้ในเรื่องใด ผู้ใช้เป็นใคร และวิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำผลงานไปใช้แล้ว
1) สำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านพาณิชย์ ต้องมีศักยภาพในเชิงการตลาด และระบุได้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใด ธุรกิจ/อุตสาหกรรม/บริการใดนำไปใช้ นำไปใช้อย่างไร และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดเป็นอย่างไร รวมทั้งระดับความสนใจของผู้ประกอบการ/เอกชนต่อโครงการวิจัยที่เสนอ หากอยู่ในรูปแบบนำร่อง/ต้นแบบอุปกรณ์ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือต้นแบบกระบวนการ จะให้ลำดับความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งนี้อาจเป็นการศึกษาความเหมาะสมของนโยบายบางอย่างของรัฐ เช่น นโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย (s-curve และ new s-curve) ที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นต้น
2) สำหรับการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ และด้านชุมชนและพื้นที่ ต้องระบุได้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใด อย่างไร และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย ควรระบุให้ชัดเจนว่าจะนำไปสู่การสร้างนโยบายใหม่หรือปรับปรุงนโยบายอย่างไร มีกลไกหรือช่องทางในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างไร
2. คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ
2.1 เป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หมายรวมถึง อาจารย์ประจำ พนักงานมหาวิทยาลัย และนักวิจัยหลังปริญญาเอก
2.2 เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เสนอโครงการ มีงานวิจัยพื้นฐานในงานที่เกี่ยวข้อง มีห้องปฏิบัติการซึ่งสามารถทำงานวิจัยที่เสนอได้สำเร็จตลอดกระบวนการ
2.3 เป็นผู้มีศักยภาพในการเชื่อมโยงและต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิชาการไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคการผลิต ก่อให้เกิดผลงานในรูปแบบสิทธิบัตร ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านพาณิชย์ และ/หรือการต่อยอดองค์ความรู้ไปใช้ในด้านสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ในด้านนโยบาย (เช่น การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือนำนโยบายไปใช้ในสังคมวงกว้าง เป็นต้น) ด้านสาธารณะ และด้านชุมชนและพื้นที่
งบประมาณและระยะเวลาดำเนินการ
1. จะสนับสนุนทุนจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 200,000-400,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาดำเนินงานไม่เกิน 1 ปี (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-เดือนเมษายน 2564)
2. ผู้ให้ทุนจะพิจารณาสนับสนุนจำนวนประมาณ 5 ทุน หากผลงานจากโครงการประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์และมีศักยภาพสูงที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน ผู้ให้ทุนจะพิจารณาให้ทุนในระยะที่สองต่อไปด้วยงบประมาณที่เหมาะสม
3. หากข้อเสนอโครงการมีงบประมาณสมทบเพิ่มเติม (in cash) หรือการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม (in kind) จากภาคอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างทีมวิจัยและหน่วยงานต่าง ๆ
4. ไม่สนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดหาครุภัณฑ์ การจ้างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา การจ่ายเบี้ยประชุม การเข้าร่วมประชุมวิชาการ
การประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อจัดสรรทุน
1. จะศึกษารายละเอียดข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ โดยคณะกรรมการประเมินภายในมหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกซึ่งผู้ให้ทุนตั้งขึ้น โดยพิจารณาจากความเป็นนวัตกรรม (novelty) หรือมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ความเป็นผู้ริเริ่ม (originality) ศักยภาพในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม (industrial scale) หรือสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายระดับจังหวัดหรือประเทศ ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในโครงการ ความเหมาะสมของงบประมาณและแผนการดำเนินงาน มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหรือส่วนงานราชการ
2. ผู้เสนอโครงการที่ผ่านการประเมินในเบื้องต้นจะได้รับเชิญให้มาเสนอโครงการแบบบรรยายต่อคณะกรรมการประเมินและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาสนับสนุนโครงการ
3. ผลการพิจารณาเป็นประการใด ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ยื่นขอทุนและ/หรือสถาบันต้นสังกัดจะอุทธรณ์มิได้
ผลงานที่คาดหวังจากงานวิจัย
ผลงานที่มหาวิทยาลัยคาดหวังจากงานวิจัยได้แก่ ผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Web of Science หรือ SCOPUS หรือผลงานต้นแบบที่สามารถจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ จำนวน 1-2 เรื่อง ตามเกณฑ์การให้ทุนของมหาวิทยาลัย
เงื่อนไขต่อคณะหรือสถาบันต้นสังกัด
คณะหรือสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุนจะต้องให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยที่ได้รับทุน และจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใด ๆ ทั้งสิ้น
กำหนดเวลา
วัน/เดือน/ปี | กระบวนการ |
1 - 15 เมษายน 2563 |
เปิดรับข้อเสนอโครงการ |
16 - 20 เมษายน 2563 | ประเมินข้อเสนอโครงการ - ตรวจสอบคุณสมบัตินักวิจัย - ประเมินข้อเสนอโครงการโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ |
21 เมษายน 2563 | ประกาศผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการเบื้องต้น |
27 เมษายน 2563 | ผู้เสนอโครงการที่ผ่านการประเมินเบื้องต้น นำเสนอโครงการวิจัยด้วยวาจา |
ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2563 | ประกาศผลการพิจารณา |
ผู้สนใจสามารถ download แบบเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนและดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. เสนอโครงการ พร้อมแนบไฟล์ที่มีลายเซ็น ในระบบ PRPM
2. ส่งเอกสารมาที่สำนักวิจัยและพัฒนา ดังต่อไปนี้
2.1 โครงการฉบับที่ลงนามโดยคณบดีของคณะหรือผู้อำนวยการของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอโครงการวิจัยโดยสังเขป และแบบฟอร์มการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย จำนวน 1 ชุด โดยให้เขียนเป็นภาษาไทย
2.2 หนังสือรับรองการร่วมลงทุนหรือร่วมโครงการจากสถาบันภาคเอกชนหรือภาครัฐ
2.3 หนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย (กรณีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในคน) หนังสือดังกล่าวอนุโลมให้ส่งภายหลัง อย่างไรก็ตาม การอนุมัติโครงการจะกระทำเมื่อได้รับหนังสือรับรองแล้วเท่านั้น
หมดเขตรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบ PRPM วันที่ 15 เมษายน 2563
โดยจะถือวันลงเลขส่งหนังสือเป็นสำคัญ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจิราวัลย์ เหลียวพัฒนพงศ์ โทรศัพท์ 074-286957 โทรสาร 074-286962 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เอกสารที่เกี่ยวข้อง