ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหารทะเล

รศ.ดร. เพริศพิชญ์ คณาธารณา และ ผศ.ดร. โอภาส บุญเกิด
สถานวิจัยการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: proespichaya.k@psu.ac.th

             ฟอร์มาลินหรือที่รู้จักกันดีในชื่อน้ำยาดองศพส่วนมากนิยมนำมาใช้ในการดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำฟอร์มาลินมาใช้ในการแช่ผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ เพื่อให้อาหารเหล่านั้นไม่เน่าเสียเร็ว เก็บได้นาน และดูสดอยู่เสมอ อาหารที่มักตรวจพบฟอร์มาลิน  ได้แก่ อาหารทะเลสด  ผักสด และเนื้อสัตว์ เป็นต้น ซึ่งหากใช้ฟอร์มาลินในปริมาณมากเกินไปและมีการตกค้างในอาหาร ย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เกิดอาการระคายเคืองและปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ ผู้ที่มีความไวต่อสารนี้จะแสดงอาการปวดศีรษะ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก การสัมผัสกับสารละลายฟอร์มาลินที่มีความเข้มข้น 2-10% เป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ฟอร์มาลินยังถูกจัดให้เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

             จากความเป็นพิษดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดฟอร์มาลินในตัวอย่างอาหาร โดยวิธีการทั่วไปที่นิยมใช้วิเคราะห์ฟอร์มาลินได้แก่ เทคนิคทางโครมาโทกราฟี แต่เทคนิคดังกล่าวมีข้อจำกัดเนื่องจาก เครื่องมือที่ใช้มีราคาแพง ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์ มีค่าบำรุงรักษาสูง และมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ และสะดวกในการใช้งาน จึงได้พัฒนาชุดตรวจวัดฟอร์มาลิน ที่สามารถเตรียมได้ง่าย มีราคาถูก สามารถใช้งานได้สะดวก พกพาได้ เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ตรวจวัดฟอร์มาลินในอาหารทะเลและตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นอาศัยการปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มาลินกับรีเอเจนต์ที่เหมาะสม คือ พาราโรซานิลีน โดยเมื่อฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับพาราโรซานิลีนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าและสามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณได้โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ซึ่งใช้งานได้ง่าย และมีราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือชนิดอื่นๆ และเป็นเครื่องมือที่มีอยู่ทั่วไปในห้องปฏิบัติการ

หลักการและขั้นตอนในการตรวจวัดฟอร์มาลิน

             ชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นอาศัยการทำปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มาลินกับสารละลายพาราโรซานิลีนได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีสีม่วง โดยผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสามารถสังเกตการเปลี่ยนสีได้ด้วยตาเปล่าและสามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณที่แน่นอนได้โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 580 นาโนเมตร ซึ่งมีขั้นตอนในการตรวจวัดดังแสดงในรูปที่ 1 โดยค่าการดูดกลืนแสงและความเข้มของสีเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฟอร์มาลิน ดังรูปที่ 2 ชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นสามารถตรวจวัดฟอร์มาลินได้ในช่วงความเข้มข้นตั้งแต่ 5.0 ไมโครโมลาร์ ถึง 200 ไมโครโมลาร์ และมีขีดจำกัดการตรวจวัด 4.0 ไมโครโมลาร์

2017feat 7 1
รูปที่ 1 ขั้นตอนการตรวจวัดฟอร์มาลิน

2017feat 7 2
รูปที่ 2 แสดงการเปลี่ยนสีของชุดทดสอบฟอร์มาลินที่ความเข้มข้นต่าง ๆ

การประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลิน

             ได้ประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นตรวจวิเคราะห์หาปริมาณฟอร์มาลินในตัวอย่างอาหารทะเลและได้เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์กับวิธีมาตรฐาน (HPLC) พบว่าชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นให้ผลไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับวิธีมาตรฐาน (ตารางที่ 1) แสดงให้เห็นได้ว่าชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นมีความน่าเชื่อถือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดฟอร์มาลินได้ โดยมีข้อดีกว่าวิธี HPLC คือ สามารถตรวจวัดได้โดยตรง ใช้งานได้ง่าย ให้ผลการตรวจวัดที่รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และผู้บริโภคสามารถตรวจวัดได้เอง

ลักษณะเด่นของชุดทดสอบฟอร์มาลิน

            โดยชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นสามารถเตรียมได้ง่าย ใช้งานได้สะดวก มีราคาถูก สามารถตรวจวัดฟอร์มาลินได้ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยการสังเกตสีด้วยตาเปล่าและตรวจวัดความเข้มข้นที่แน่นอนด้วยเครื่องสเปกโตโฟโตมิเตอร์อย่าง่าย โดยไม่จำเป็นต้องใครเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีราคาแพง ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปสามารถตรวจวัดเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการตรวจวัด

ตางรางที่ 1 แสดงผลการตรวจวิเคราะห์ฟอร์มาลินในตัวอย่างอาหารทะเลด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นกับวิธีมาตรฐาน HPLC

ตัวอย่าง

ชุดทดสอบฟอร์มาลิน

(ไมโครโมลาร์)

วิธีมาตรฐาน (HPLC)

(ไมโครโมลาร์)

ปลาหมึกกล้วยลอก-1

ไม่สามารถตรวจวัดได้

3.93±0.01

ปลาหมึกกล้วยลอก-2

ไม่สามารถตรวจวัดได้

0.52±0.01

ปลาแซลมอน-1

7.37±0.16

7.19±0.01

ปลาแซลมอน-2

5.95±0.29

6.02±0.01

ปลาหมึกใหญ่

7.24±0.76

7.15±0.01

ปลาแพนกาเซียส

ไม่สามารถตรวจวัดได้

1.54±0.01

ปลาจาระเม็ดดำ-1

6.94±0.27

7.08±0.04

ปลาจาระเม็ดดำ-2

4.04±0.21

4.22±0.01

ปลาจาระเม็ดขาว

5.71±0.46

5.48±0.01

ปลาอินทรีย์

8.82±0.80

8.64±0.01


ตัวอย่างอาหารทะเลที่ตรวจวิเคราะห์ฟอร์มาลิน
2017feat 7 3

English Version

 

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy