ยาเจลรักษาแผลในช่องปากที่เตรียมจากสารสกัดเปลือกมังคุดที่มีสาร alpha-mangostin

รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

รางวัล    1. Gold Medal จาก Brussels Innova Expo 2015, ประเทศเบลเยียม

            2. Special Award “This is a Good Idea in 2015” จาก Taiwan Prominent Inventor Association ประเทศไต้หวัน

          เปลือกผลมังคุดเป็นวัตถุดิบเหลือใช้ (by-product) จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ แต่สารสกัดจากเปลือกผลมังคุดมีคุณค่าทางการแพทย์และเภสัชมาก เนื่องจากสารสกัดจากเปลือกผลมังคุดอุดมไปด้วยสารกลุ่มแซนโทน (xanthone) โดยเฉพาะสารแอลฟา-แมงโกสติน(a-mangostin) ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพสารสกัดจากเปลือกผลมังคุดมีรายงานว่าสารสกัดจากเปลือกผลมังคุดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบ ต้านออกซิเดชัน และสมานแผลดังนั้น จึงนิยมนำสารสกัดจากเปลือกผลมังคุดมาใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง มีรายงานว่า ไดคลอโรมีเทน (dichloromethane) เป็นตัวทำละลายที่ดีที่สุดในการสกัดสารแอลฟา-แมงโกสติน อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่สามารถใช้ไดคลอโรมีเทนเป็นตัวทำละลายในการเตรียมสารสกัดได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษต่อผู้บริโภค

          ในปัจจุบัน “ตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green solvent)” จึงได้รับความสนใจในการนำมาใช้เตรียมสารสกัดสมุนไพร เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพิษในขณะเตรียมสารสกัด และสารสกัดที่ได้มีความปลอดภัยมากกว่างานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นในการเตรียมสารสกัดเปลือกผลมังคุดโดยใช้องค์ประกอบในตำรับยาครีม ได้แก่ ไอโซโพรพิล เมอริสเทรต (isopropyl myristate) และ เซตทิล แอลกอฮอล์ (cetyl alcohol)เพื่อเป็นตัวทำละลายในการสกัดสาร และสกัดสารด้วยเครื่องไมโครเวฟ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สารทั้งสองชนิดนี้มีความมีขั้วใกล้เคียงกับไดคลอโรมีเทน แต่มีความปลอดภัยและมีราคาที่ถูกกว่า

          สารสกัดที่ได้จากวิธีการนี้มีสารแอลฟา-แมงโกสตินความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 2.0% w/w และสามารถนำมาใช้เตรียมยาได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการระเหยตัวทำละลายออก ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และได้นำสารสกัดดังกล่าวมาใช้เตรียมยาในรูปแบบยาเจลเพื่อใช้สำหรับรักษาแผลอักเสบในช่องปาก โดยยาเจลที่เตรียมได้มีความเข้มข้นของสารแอลฟา-แมงโกสติน 0.1-0.2% w/w และสามารถควบคุมคุณภาพของยาให้มีสารออกฤทธิ์แอลฟา-แมงโกสติน ในปริมาณคงที่เหมือนกันทุกครั้งที่ผลิตยา

2017feat 5 1 

          จากงานวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรสิงประดิษฐ์แล้ว 2 สิทธิบัตร ได้แก่

  1. สิทธิบัตรเรื่อง “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดเปลือกผลมังคุดที่มีแอลฟา-แมงโกสติน” (เลขที่คำขอสิทธิบัตร 1401006486 วันที่ 28 ตุลาคม 2557)
  2. สิทธิบัตรเรื่อง “สูตรตำรับยาเจลที่มีตัวยาสำคัญเป็นสารสกัดเปลือกผลมังคุดที่มีแอลฟา-แมงโกสติน” (เลขที่คำขอสิทธิบัตร 1501006689 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558)

English Version

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy