รศ.ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ และ ผศ.ดร.สิริรัตน์ เกียรติปฐมชัย
สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Email:This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ปัจจุบัน (ปี 2558) ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับสามของโลก (ประมาณ 3% ของน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ทั้งโลก) รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งเป็นเจ้าพ่อปาล์มน้ำมัน (ผลิตมากกว่า 85%) อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เป็นแหล่งผลิตน้ำมันเพื่อใช้เป็นอาหารและไบโอดีเซล ทั้งบริโภคและใช้ในประเทศและส่งออก เป็นแหล่งสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในปี 2558 มีการใช้ที่ดินไปเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันแล้วมากถึง 4.7 ล้านไร่ มีการขยายพื้นที่ปลูกไปแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีเกษตรกรผู้ผลิตมากกว่า 2 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่คือประมาณ 90% เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่สวนปาล์มเฉลี่ยประมาณ 20-30 ไร่/ราย
แม้ว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยมีการพัฒนามาประมาณ 50 ปี ยังคงมีปัญหาสำคัญหลายเรื่อง ทั้งในส่วนการผลิตของเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำ การแปรรูปกลางน้ำ และการตลาดปลายน้ำ รวมทั้งปัญหาจากนโยบายรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยเผชิญกับปัญหาหลัก เช่น 1) ความผันผวนและตกต่ำของราคาผลผลิต 2) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ (เฉลี่ย 2.6 ตันปี 2558) 3) ต้นทุนการผลิตสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น ถ้าปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของเกษตรกร ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของความยั่งยืนในระยะยาว
ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มด้วยแนวทางที่หลากหลาย หนึ่งในโครงการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประเมินผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว และจัดได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่งคือ “โครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนในประเทศไทย” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German International Cooperation: GIZ) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อสนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และสร้างระบบการรับรองสำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โครงการดำเนินการโดยสนับสนุนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 500 คน และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของเอกชน 4 โรง และสหกรณ์ 1 แห่ง จากจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ตราด และสระแก้ว เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
โครงการมีการอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่เกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) พร้อมกับพัฒนาและจัดทำคู่มือด้านการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RSPO เช่น คู่มือด้านการใช้ปุ๋ย คู่มือด้านการจัดการสวน สมุดบันทึกสวนปาล์ม คู่มือด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คู่มือระบบควบคุมภายใน (ICS) และคู่มือแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO สำหรับเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การอนุรักษ์ดิน น้ำ และทรัพยากร ตลอดจนสิ่งที่มีคุณค่าสูงต่อการอนุรักษ์ เป็นต้น
โครงการได้รวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันรายย่อย สร้างความเชื่อมโยงกับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ และให้กลุ่มเกษตรกรและโรงงานฝึกดำเนินการในระบบการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่มีความสนใจและได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดหาพี่เลี้ยงเกษตรกร เพื่อช่วยสนับสนุนงานพื้นฐานของกลุ่มเกษตรกรและให้คำแนะนำเกษตรกรในโครงการ มีการตกลงกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรและโรงงานในการกำหนดราคาพรีเมี่ยมสำหรับผลผลิตปาล์มที่มีคุณภาพ ในระหว่างการดำเนินโครงการได้มีการติดตามการบันทึกข้อมูลของเกษตรกรและการจัดการฐานข้อมูลของกลุ่มเกษตรกร
ผลการประเมินสรุปได้ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก มีประโยชน์มากทั้งต่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการและผลกระทบภายนอก ดังรายละเอียด
1. กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่นำร่องจากทั้ง 4 โรงงาน ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO และเป็น 4 กลุ่มแรกของโลก
2. โครงการได้รับการคัดเลือกจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้เป็นโครงการดีเด่นที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรายย่อยในห่วงโซ่พลังงานชีวภาพและการรับรอง
3. เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการมีทัศนคติที่ดีมากต่อโครงการในด้านการให้ความรู้ และมีเอกสารประกอบการอบรมที่เข้าใจได้ง่าย (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 ตัวอย่างเอกสารประกอบการอบรม
4. สำหรับกิจกรรมการจัดการสวนปาล์มที่เกษตรกรเปลี่ยนแปลงมากหลังจากเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ การบันทึกกิจการฟาร์ม (รูปที่ 2) การจัดการปุ๋ย การจัดการสวนปาล์มในด้านการวางทางใบ (รูปที่ 3) การใช้สารเคมี การจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน และการอนุรักษ์ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดการปุ๋ยนั้น เกษตรกรมีการให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบ เปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยผสมเป็นการใช้แม่ปุ๋ย มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น
5. การเปลี่ยนแปลงการจัดการสวนปาล์มดังกล่าว ทำให้ผลผลิตปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 412 กก./ไร่/ปี (พื้นที่ปลูกปาล์มที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 15,900 ไร่ ดังนั้นทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 6,550 ตัน/ปี) และเกษตรกรขายผลปาล์มสดได้ในราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50 บาท/ตัน จากผลดังกล่าว ทำให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 94,536 บาท/ราย/ปี
6. เกษตรกรสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตจากราคาส่วนลดในการซื้อปุ๋ยจากโรงงาน ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินที่ประหยัดได้ 10,810 บาท/ราย/ปี (จากพื้นที่สวนปาล์มที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 39 ไร่) หรือราคาปุ๋ยที่เกษตรกรซื้อได้ลดลงจากราคาตลาด 10-15%
รูปที่ 2 ตัวอย่างบันทึกการจัดการสวนปาล์ม
รูปที่ 3 ตัวอย่างการวางทางใบที่เหมาะสม
7. นอกจากผลประโยชน์จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังได้ประโยชน์เพิ่มอีกหลายอย่าง เช่น ได้รับบริการการวิเคราะห์ดินและใบ ทะลายเปล่า และช่องทางด่วนในการขายผลผลิตในช่วงผลผลิตมาก นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยและคนงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และลดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO
8. โครงการมีผลกระทบเชิงบวกต่อกลุ่มเกษตรกรและชุมชน ประโยชน์หลักที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรและชุมชนคือเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เกิดผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมันในด้านต่าง ๆ และในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกในกลุ่มที่มีการจัดการสวนปาล์มที่ดี (Best Management Practices: BMPs) ซึ่งเกษตรกรอื่น ๆ สามารถมีโอกาสได้เรียนรู้จากสมาชิกเหล่านี้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มได้มีโอกาสขยายเครือข่ายมากขึ้น และเกษตรกรรายย่อยได้เรียนรู้และตระหนักเกี่ยวกับพลังในการต่อรองของกลุ่ม
9. โรงงานได้รับประโยชน์หลายอย่างจากการเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ผลผลิตปาล์มมากขึ้นและได้ปาล์มที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สกัดได้เพิ่มขึ้น โรงงานและเกษตรกร
รายย่อยมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น โรงงานได้รับการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายของโรงงาน และโรงงานสามารถใช้ประสบการณ์จากการรวมกลุ่มเกษตรกรในลักษณะนี้เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่อื่น ๆ
10. เกษตรกรรายย่อยที่ไม่เข้าร่วมโครงการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับประโยชน์จากโครงการ โดยเฉพาะความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากเพื่อนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงการจัดการสวนและเพิ่มผลผลิต
ในภาพรวม โครงการความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ มีส่วนช่วยอย่างมากในการกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตร ควรนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปพัฒนาโครงการที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่อื่น เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบ และความยั่งยืนในการผลิตสินค้าเกษตรอื่น ๆ