การศึกษาและพัฒนาน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นสารทดแทนฮอร์โมนธรรมชาติสำหรับสตรีวัยทอง

รศ.ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด1 ผศ.ดร.จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์2 ผศ.ดร.กิจจา สว่างเจริญ3 นางพัชรา ศุภธีรสกุล1 ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์1 ทพญ.มุทิตา ว่องสุวรรณเลิศ4 ทพญ.ประพรรณศรี เรืองศรี4 นางสาวปิยากร บุญยัง1 นายวิลาด รัญดร3 และ ศ.นพ.วิญญู มิตรานันท์5
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.;  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

1 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2 ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3 ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4 ภาควิชาทันตกรรมอนุรักษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
5 ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

coconut2  coconut1

          Menopause  คือการหมดประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนจากรังไข่  มากระตุ้นมดลูกอีกต่อไป  ในแต่ละปีทั่วโลกมีสตรีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (หรือที่เรียกว่า สตรีวัยทอง)ประมาณ 50 ล้านคน  ผลข้างเคียงที่สำคัญอันเกิดจากการหมดประจำเดือนคือ โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) และกระดูกพรุน  สตรีวัยทองมักได้รับฮอร์โมนทดแทน (HRT) และพบว่าอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในสตรีวัยทองที่ได้รับ HRT ลดลงแต่หากได้รับ HRT มากกว่า 5 ปี ขึ้นไปจะพบผลข้างเคียงอื่นๆ มากขึ้น ที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ หลอดเลือดในสมองตีบ จึงมีความพยายามหาสารหรือพืชทดแทนจากธรรมชาติมาทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ ในปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองซึ่งมี

        ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เพื่อนำมาเป็นฮอร์โมนทดแทนจำนวนมากและพบว่า สตรีวัยทองอเมริกันที่เริ่มรับประทานอาหารจำพวกถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทองแล้วมีอัตราการเป็นมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมสูง แต่อุบัติการณ์เช่นนี้ไม่พบในสตรีวัยทองในประเทศจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารจำพวกถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมาตั้งแต่เด็ก

       การวิจัยก่อนหน้านี้ได้มุ่งหาสารอื่น นอกจากถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ที่มี ฮอร์โมนเอสโตรเจน อันได้แก่ น้ำมะพร้าวอ่อน โดยเป็นผลจากการใช้ความรู้ของภูมิปัญญาไทย ที่ว่า หากดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนขณะมีประจำเดือนจะมีผลทำให้ประจำเดือนหยุดหรือกลายเป็นประจำเดือนกะปริดกะปรอยและทำให้มีประจำเดือนครั้งต่อไปล่าช้ากว่าปกติ โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและมีส่วนช่วยลดพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้หนูขาวเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ออกเป็นแบบจำลอง

       นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีผลทำให้การสมานแผลเร็วขึ้น ผู้วิจัยจึงได้ขอทุนจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อศึกษาในเชิงลึกในระดับจุลพยาธิกายวิภาคศาสตร์ นอกจากนั้นยังพบว่าอุบัติการณ์ในชายวัยทองเป็นไปได้ช้าเช่นเดียวกันและฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยเร่งการสมานแผลได้เช่นเดียวกัน ผู้วิจัยจึงได้ขอทุนจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2554-2555 เพื่อศึกษาผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการการสมานแผลในหนูขาวที่ถูกตัดเอาอัณฑะออกซึ่งเปรียบเทียบได้กับชายวัยทอง และเนื่องจากยังไม่มีผู้ใดทำการวิเคราะห์ว่าสารคล้ายฮอร์โมน     เอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นสารตัวใด วัตถุประสงค์ของการขอทุนจึงมุ่งไปที่การวิเคราะห์หาสารสำคัญซึ่งผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่าเป็นสารประเภทไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ด้วย

       นอกจากจะพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนช่วยสมานแผลในหนูขาวเพศผู้แล้ว ผู้วิจัยยังได้ทำการวิจัยเบื้องต้นโดยใช้โมเดลเดียวกันนี้ พบว่ามวลกระดูกของกระดูกขากรรไกรรวมทั้งพารามิเตอร์ที่ใช้วัดชั้นต่างๆ ของกระดูกอ่อน(condyle cartilage) และ เปอร์เซนต์ของมวลกระดูก (% bone volume) ของข้อต่อขากรรไกร (temperomandibular joint) ในหนูขาว ที่ถูกตัดเอาอัณฑะออกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับหนูขาวที่ถูกตัดเอาอัณฑะออกและได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานว่าสารคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (estrogen-like hormone) ในน้ำมะพร้าวอ่อนอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากการดูดซึมแคลเซียมต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือฮอร์โมนเอสโตรเจน และจะได้ทำการวิจัยผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการชะลอภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยทองต่อไป 

       ผลจากการวิจัยในครั้งนี้ จะได้นำไปพัฒนาให้เป็นยาเพื่อช่วยให้การสมานแผลเร็วขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่แผลหายช้ากว่าปกติเช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่ต้องทำผ่าตัดบริเวณใบหน้าเพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น หรือเป็นยาปลูกผม ในผู้ป่วยที่มีปัญหาผมบาง หรือเป็นอาหารเสริมป้องกันภาวะกระดูกพรุนในชายวัยทอง

        จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยได้รับเชิญเป็น invited speaker แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเช่น บริษัทเปปซี่ สาขาประเทศไทย (Pepsico) และแก่บริษัทโอสถสภา ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องดื่มต่างๆ ในท้องตลาดของประเทศไทย

       นอกจากนี้ผลจากงานวิจัยในครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ทำการทดสอบเบื้องต้น เพื่อพัฒนาให้น้ำมะพร้าวอ่อนขึ้นสู่ระดับอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาเป็นอาหารเสริม เวชสำอาง เครื่องสำอาง เป็นยาเพื่อชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เป็นยาเพื่อช่วยการสมานแผล และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่อไปในอนาคต

วิธีการวิจัย

1. การเตรียมผงน้ำมะพร้าวอ่อน และน้ำมะพร้าวอ่อนเข้มข้น

นำน้ำมะพร้าวอ่อนปริมาตร 100 มล. ผ่านเครื่องทำให้แห้งด้วยเย็น (freeze dryer) จนได้ผงน้ำมะพร้าวอ่อนน้ำหนัก 5.5 กรัม เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ -30°C ในการทดลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนที่ความเข้มข้น 100 มล./น้ำหนักตัว 1 กก. ของสัตว์ทดลอง (100 ml/kgBW) เตรียมจากการนำผงน้ำมะพร้าวอ่อนน้ำหนัก 5.5 กรัมละลายในน้ำกลั่นจนได้สารละลายปริมาตรรวมเท่ากับ 10 มล. (เตรียมใหม่ทุกวัน)            

2. การผ่าตัดหนูขาวเพศเมีย

หลังจากการทำให้หนูขาวสลบแล้ว ทำการผ่าตัดเปิดผิวหนังโดยเลือกบริเวณด้านข้างของลำตัว วัดจากซี่โครงซี่สุดท้ายความกว้างประมาณ 1 นิ้วมือ (โดยใช้นิ้วชี้ทาบไปที่ลำตัวให้ขอบบนของนิ้วชี้ชิดกับกระดูกซี่โครงซี่สุดท้าย) จากนั้นใช้มีดผ่าตัดเปิดผนังด้านข้างลำตัวทีละชั้น โดยกรีดมีดลงบนผิวหนังของหนูยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง ไขมัน และชั้นกล้ามเนื้อ ใช้ปากคีบเอารังไข่ออกมา ใช้ไหมละลายผูกห้ามเลือด ก่อนที่จะตัอเอารังไข่ออกมา หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผลชนิดละลายได้เอง ทุกขั้นตอนที่ปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อทั้งหมด

3. การผ่าตัดหนูขาวเพศผู้

หลังจากการทำให้หนูขาวสลบแล้ว ที่ตำแหน่งรอยต่อของถุงอัณฑะคือตำแหน่งที่จะเปิดแผลขนาดความยาว 1-2 เซนติเมตรและมีความลึกผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง เพื่อเข้าสู่อัณฑะ และเอาอัณฑะออก หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผลชนิดละลายได้เอง ทุกขั้นตอนที่ปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อทั้งหมด

4. การแบ่งกลุ่มสัตว์ทดลองเพื่อให้สารต่าง ๆ

การทดลองครั้งนี้จะแบ่งกลุ่มสัตว์ทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มควบคุม (Control group)

กลุ่มที่ 1  Sham operation หมายถึง  กลุ่มสัตว์ทดลองที่ไม่ได้ตัดเอารังไข่หรืออัณฑะออก แต่ทำการผ่าตัดเปิดแผลเหมือนอีก 4 กลุ่ม กลุ่มนี้ให้น้ำกลั่นทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เวลาเดียวกัน ติดต่อกัน

กลุ่มที่ กลุ่มสัตว์ทดลองที่ตัดเอารังไข่หรืออัณฑะออก เรียกว่า ovariectomy (ovx) หรือ orchidectomy (orx) หมายถึง  กลุ่มตัดเอารังไข่หรือเอาอัณฑะออกทั้งสองข้าง และให้น้ำกลั่นทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เวลาเดียวกัน ติดต่อกัน

กลุ่มที่ 3  Ovariectomy หรือ orchidectomy และฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ estradiol benzoate (EB) 2.5 μg/kgBW/day 5 วันต่อสัปดาห์

II  กลุ่มทดลองให้น้ำมะพร้าวอ่อน (Experimental group)

กลุ่มที่ กลุ่มสัตว์ทดลองที่ตัดเอารังไข่หรืออัณฑะออกและ หนูทุกตัวจะได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน โดยการให้ทางท่อป้อนอาหาร (feeding tube) วันละหนึ่งครั้ง เวลาเดียวกันทุกวัน

กลุ่มที่ 2  Sham operation และให้น้ำมะพร้าวอ่อน โดยการให้ทางท่อป้อนอาหาร (feeding tube) วันละหนึ่งครั้ง เวลาเดียวกันทุกวัน

5. การย้อมสีเพื่อศึกษาลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์

เมื่อถึงกำหนด หลังจากเลี้ยงหนูตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะทำการฆ่าหนูและชำแหละเอาอวัยวะที่ต้องการศีกษาได้แก่ สมอง ตับ ไต กระดูกและกระดูกอ่อน ผิวหนัง นำเนื้อเยื่อที่ได้ไปแช่น้ำยาดองชิ้นเนื้อคือน้ำยาฟอร์มาลิน หลังจากนั้นนำเนื้อเยื่อไปผ่านขบวนการและฝังลงในขี้ผึ้ง ตัดเนื้อเยื่อด้วยเครื่องตัดไมโครโตม และนำไปย้อมสีต่อไป

6. การศีกษาการเปลี่ยนแปลงและการใช้โปรตีนที่เป็นลักษณะเฉพาะของอวัยวะต่างๆ เป็นตัวชี้วัด

6.1 การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการชะลอพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ใช้โปรตีน 3 ชนิดได้แก่ เบต้าอะมัยลอยด์ (β-amyloid 1-42) เทาโปรตีน (tau protein) และจีเอฟเอพี (GFAP)

6.2 การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังใช้โปรตีน 2 ชนิดได้แก่ ตัวรับเอสโตรเจนทั้งชนิดแอลฟ่า และชนิดเบต้า รวมทั้งมีการวัดความหนาของผิวหนัง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของรากผม โดยมีสมมติฐานที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เกิดจากไฟโตเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อน มีผลต่อสเตมเซลล์ที่รากขน แบ่งตัวให้เป็นเซลล์ใหม่เจริญงอกขึ้นมาเป็นผิวหนังทดแทนเซลล์ที่บาดเจ็บเป็นแผล

6.3 การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงของกระดูก ใช้กระดูกและกระดูกอ่อนของขากรรไกรของหนูเพศผู้

6.4 การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ทำหน้าที่ดูดซึมแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ใช้การย้อมวิธีพิเศษที่เรียกว่า กรีมิเลียส (Gremilius staining) ในระบบทางเดินอาหารของหนูขาวได้แก่ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่

ผลการวิจัย

1.  การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรกในโลก (Novel findings) ที่ได้นำน้ำมะพร้าวอ่อนมาทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง ผลการวิจัยทั้งก่อนหน้านี้ รวมทั้งงานวิจัยโครงการนี้จัดเป็น “Novel findings” ทั้งหมดที่ยังไม่มีผู้ใดเคยทำการศึกษาในสัตว์ทดลองระดับจุลพยาธิวิทยามาก่อน การวิจัยในครั้งนี้บรรลุผลมากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ (novel findings) ที่ไม่เคยมีผู้ใดพบมาก่อน แม้จะต้องรอการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ความเข้าใจถึงกลไกการออกฤทธิ์ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เพราะน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องดื่มตามธรรมชาติที่ผู้คนนิยมดื่มทั่วไป เป็นเวลานานหลายศตวรรษมาแล้ว และจะได้นำไปสู่การวิจัยและการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม เชิงวิชาการ และจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวโดยตรง

2. การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรกที่พบว่าสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อนคือเบต้าไซโตสเตอรอล (β-sitosterol) ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์เป็นสเตียรอยด์ในมนุษย์ได้

3. สรุปผลการทดลอง การใช้น้ำมะพร้าวอ่อนทำการวิจัย โดยใช้หนูขาวทั้งเพศเมียที่ตัดรังไข่และเพศผู้ที่ตัดอัณฑะออกเป็นโมเดลของสตรีวัยทอง และชายวัยทองตามลำดับ มีดังนี้

1) ช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในสตรีวัยทอง

2) ช่วยสมานแผลทั้งในหนูขาวเพศผู้และเพศเมีย และไม่ทำให้เป็นแผลเป็น

3) ช่วยทำให้ผิวขาวใส อ่อนนุ่ม ลดรอยเหี่ยวย่น

4) ช่วยเพิ่มขนาดและจำนวนของเส้นผม

5) ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน

6)  ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมของเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร

การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

1. น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นน้ำดื่มจากธรรมชาติเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นอกจากจะมีรสชาดดี หอมหวาน อร่อยแล้วยังมีคุณค่าต่างๆ มากมาย มีทั้งวิตามิน ได้แก่ วิตามิน บี3 (niacin), วิตามิน บี7 (biotin), วิตามิน บี2 (riboflavin), กรดโฟลิก (folic acid), วิตามิน บี1 (thiamin), วิตามิน บี6 (pyridoxine), และเกลือแร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง ฟอสฟอรัส จนเป็นที่รู้จักกันดีในนาม น้ำเกลือแร่จากธรรมชาติ (Mineral water) ซึ่งปัจจุบันทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาน้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (sport drink) เนื่องจากมีปริมาณเกลือแร่ที่สูง ผลงานวิจัยนี้จึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนทั่วไป เพราะหาซื้อมาดื่มได้ง่าย ไม่ต้องรอการสกัดหาสารสำคัญดังเช่นพืชอื่นๆ ที่มีเอสโตรเจนเช่น กวาวเครือขาว ว่านชักมดลูก ซึ่งมีความเป็นพิษต้องสกัดอย่างถูกวิธี และยังมีข้อด้อยกว่า เช่น กลิ่นแรง การนำไปประยุกต์เช่นผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆ เช่นผสมกับกาแฟ ก็ยังมีรสและกลิ่นที่ทำลายอโรมาของกาแฟหรือเครื่องดื่มนั้นให้ด้อยลง

2. ช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในสตรีวัยทอง

3. ช่วยสมานแผล ในผู้ป่วยที่มีการสมานแผลช้าเช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน

4. ผู้ป่วยที่ต้องทำผ่าตัดเพื่อการเสริมสวยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณใบหน้า สามารถดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น

5. ประชาชนทั่วไปสามารถดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อช่วยทำให้ผิวขาวใส อ่อนนุ่ม ลดรอยเหี่ยวย่น

6. ช่วยเพิ่มขนาดและจำนวนของเส้นผมในผู้ป่วยที่มีปัญหาผมบาง

7. ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมของเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร จึงสามารถดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้

8. มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ จึงเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนมะพร้าว เพราะทำให้ได้ราคาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มะพร้าวขาดตลาดจากภาวะต่างๆ เช่น น้ำท่วม มีโรคระบาดทำให้ต้นมะพร้าวตายเป็นจำนวนมาก

9. ทำให้ธุรกิจการส่งออกน้ำมะพร้าวอ่อนมากขึ้น

ข้อควรระวังในการดื่มน้ำมะพร้าว

1. ไม่ควรดื่มขณะมีประจำเดือน

2. ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ควรดื่มครั้งละน้อยๆ

3. สตรีที่มีประวัติเคยเป็นซีสต์หรือก้อนเนื้อที่เต้านม มดลูก หรือรังไข่ ควรดื่มอย่างระมัดระวัง และหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ

4. การดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อหวังผลเป็นฮอร์โมนทดแทน ควรดื่มสลับกับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำเต้าหู้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเสริมสุขภาพชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

5. ไม่ควรทานยาพร้อมกับน้ำมะพร้าว เพราะอาจทำให้ฤทธิ์การของยาลดลง ควรดื่มน้ำมะพร้าวก่อนหรือหลังจากทานยาประมาณครึ่งชั่วโมง

ควรดื่มน้ำมะพร้าวจากลูกโดยตรง หรือซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ เพราะผู้ขายอาจผสมน้ำตาลทำให้รสหวานดีขึ้น     

 

English Version

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy