การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดใบกระทุในสัตว์น้ำ โดยใช้เซลล์มาโครเฟจที่สกัดจากไตส่วนต้นของปลาเทราต์สายรุ้ง

ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย และ ปิ่นอนงค์ ณ พัทลุง
สถานวิจัยความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: supayang.v@psu.ac.th

 

      ปลาเทราต์สายรุ้งเป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาแซลมอน โดยปกติอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ (น้อยกว่า 20°C) เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศเขตอบอุ่นและเขตหนาว นิยมเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย ปลาเทราต์สายรุ้งถูกนำเข้ามาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยครั้งแรกโดยกรมประมงและสถานีเพาะเลี้ยงในโครงการหลวงที่ดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเกษตรกรชาวไทยภูเขาส่วนหนึ่งมีรายได้จากการเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งจนสามารถเป็นอาชีพหลักของครอบครัว

      การเพาะเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งมักประสบปัญหาผลผลิตผลลงจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ เกษตรกรนิยมใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีเพื่อรักษาและควบคุมการระบาดของโรค แต่การใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา นอกจากนั้นยังเกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์ปลาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จากการคำนึงถึงผลกระทบดังกล่าวการให้อาหารเสริมจากธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบภูมิคุ้มกันจึงเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันและรักษาโรคที่เกษตรกรในปัจจุบันหันมาให้ความสนใจ

      กระทุ เป็นพืชไม้พุ่มที่พบได้ทั่วไปในเขตภาคใต้ของประเทศไทย จากงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการของสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเกี่ยวกับสารสกัดใบกระทุ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย เช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดใบกระทุในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์น้ำ โดยทำการศึกษาการแสดงออกของสารพันธุกรรมในเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครเฟจที่สกัดจากไตส่วนต้นของปลาเทราต์สายรุ้ง(รูปที่ 1)

รูปที่ 1 เซลล์มาโครเฟจที่สกัดจากไตส่วนต้นของปลาเทราต์สายรุ้ง

 

     จากการศึกษาพบว่าสารสกัดใบกระทุสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเพิ่มการแสดงออกของสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการทำงานของเซลล์มาโครเฟจ ทำให้เซลล์มีประสิทธิภาพในการจับกินสิ่งแปลกปลอมและเพิ่มการชุมนุมของเม็ดเลือดขาวซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน (รูปที่ 2) ทำให้ปลามีความสามารถในการต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น

รูปที่ 2 เซลล์มาโครเฟจที่ทดสอบด้วยสารสกัดใบกระทุ (ก.) และเซลล์มาโครเฟจชุดควบคุม (ข.)

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้

      ทราบถึงประสิทธิภาพของสารสกัดใบกระทุในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาเทราต์สายรุ้ง ซึ่งผลทดสอบจากงานวิจัยนี้จะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการพัฒนาสารสกัดใบกระทุเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรคในปลาเพาะเลี้ยง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อการเพิ่มผลผลิตและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy