ผศ.ดร.สิรีวรรณ วิริยกุลโอภาศ (แก้วสุวรรณ)
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์
E-mail:This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เฟิร์นเป็นพืชดึกดำบรรพ์ที่มีมานานและมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีพืชในกลุ่มเฟิร์นถึง 250 สกุล กว่า 12,000 ชนิด ส่วนใหญ่พบในป่าหรือสถานที่ซึ่งมีความชุ่มชื้นสูงในเขตร้อน แต่ในเขตกึ่งร้อนและเขตหนาวก็พบเฟิร์นจำนวนมากตามธรรมชาติเช่นกัน เฟิร์นเป็นพืชชั้นต่ำ ไม่มีดอก ไม่มีเมล็ด ขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์และอาศัยน้ำในการสร้างวงจรชีวิต และจัดเป็นราชินีแห่งไม้ประดับ มีความงดงามที่ไม่ได้อาศัยดอกเป็นตัวช่วย แต่มีใบที่งดงาม มีวิวัฒนาการที่หลากลาย มีสีสันสดใสและมีความพิเศษตรงความอ่อนหวานในรูปทรงที่โค้ง คด ดูนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป จึงเป็นพืชที่มีเสน่ห์ ทำให้มีผู้สนใจปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อเป็นไม้ประดับกันมากขึ้น นอกจากนี้เฟิร์นหลายชนิดยังใช้เป็นอาหารและเป็นสมุนไพรได้
เฟิร์นไทยชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าไซโคลซอรัส เทอร์มิแนนส์ (Cyclosorus terminans หรือ หรือ Amphineuron terminans หรือ Thelypteris terminans วงศ์ Thelypteridaceae) มีลักษณะคล้ายผักกูดที่เป็นผักพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทยและจัดอยู่ในวงศ์ Thelypteridaceae เช่นเดียวกับกูดออ (T. ornata) และกูดก้านแดง (T. truncata) ยอดอ่อนของเฟิร์นไซโคลซอรัส เทอร์มิแนนส์ นำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยปกติจะเจริญเติบโตในที่ร่มหรือแดดรำไร ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ต้องการความชุ่มชื้นในดินและในอากาศที่มีความชื้นสูง และอุณหภูมิของพื้นดินไม่เปลี่ยนแลงมากนัก มักขึ้นบนดินปนทราย บริเวณตามที่ลาดชันค่อนข้างแห้งที่ระดับความสูง 600-1200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยรายงานพบได้ที่จังหวัดน่าน สกลนคร ฉะเชิงเทรา ตราด กาญจนบุรี นครศรีธรรมราชและสงขลา
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสารสกัดของเฟิร์น ไซโคลซอรัส เทอร์มิแนนส์ มีฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก ได้แก่ Methicillin-sensitive Staphlococcus aureus (MSSA), Methicillin-resistant S. aureus, S. epidermidis และ Bacillus subtilis โดยมีสารกลุ่มอินเตอร์รับติน (interrupin) เป็นสารออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นกระบวนการในการสกัดเฟิร์น ไซโคลซอรัส เทอร์มิแนนส์ ที่มีสารออกฤทธิ์กลุ่มอินเตอร์รับติน (interrupin) ในปริมาณสูงโดยมุ่งเน้นวิธีการสกัดด้วยตัวทำละลายชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green extraction) โดยเตรียมสารสกัดทั้งในรูปแบบที่ละลายในน้ำมันและละลายในน้ำ เพื่อมาทำเป็นสบู่ก้อนและสบู่เหลวยับยั้งแบคทีเรียจากสารสกัดเฟิร์นไซโคลซอรัส เทอร์มิแนนส์ ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Cyclosorus terminans (J. Sm. ex Hook.) Panigrahi