ผลของการนวดไทยรักษาอาการหัวไหล่ติด

กชกร สุขจันทร์ อินทนูจิตร, ซูไฮลา สมูซอ, ฟาตีฮะห์ อามะ และ รจนลักษณ์ เกื้อกูล
คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

          ในปัจจุบันประเทศไทยมีอุบัติการณ์การเกิดอาการหัวไหล่ติดเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อทำงานในมุมสูง การยกของหรือหิ้วของเพื่อรับน้ำหนักมากๆ เมื่อเกิดอาการหัวไหล่ติดส่งผลให้เกิดการจำกัดองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในการใช้งานและเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตในประจำวัน เช่น การหวีผม การสวมเสื้อผ้า การเกาหลังและการถูสบู่ด้านหลังของลำตัว เป็นต้น โดยสาเหตุของการเกิดหัวไหล่ติดเชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ข้อเกิดการเคลื่อนไหวน้อยลง การดำเนินของโรคในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อไหล่โดยเฉพาะปวดมากในเวลากลางคืน อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อ ระยะที่สองอาการปวดจะน้อยลง แต่จะมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ระยะที่สามจะเริ่มฟื้นตัว จะมีการขยับของข้อดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 12-42 เดือนหากไม่ดีอาจจะพิจารณาผ่าตัด  ซึ่งแนวทางในการรักษานอกจากการผ่าตัดสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยา การทำกายภาพบำบัดและการนวดไทย ทั้งนี้วิธีการรักษาอาการในผู้ป่วยสูงอายุ ทั้งการใช้ยาและการผ่าตัดอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ และใช้ระยะเวลานานในการซ่อมแซมหรือการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการนวดไทย อีกทั้งมีกระแสของผลการตอบรับที่ดี ประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยอีกด้วย

          ด้วยคณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สาขาการนวดไทย และมีประสบการณ์ในการรักษามานานกว่า 30 ปี ประกอบกับมีผลตอบรับด้านประสิทธิภาพของการรักษาอาการที่ดีขึ้น แต่ขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ จึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นเพื่อยืนยันประสิทธิผลของการรักษาอาการหัวไหล่ติดให้เป็นแบบแผนที่ชัดเจน

วิธีการวิจัย

          ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการหัวไหล่ติดในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 30 ราย ทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุระหว่าง 40-60 ปี ที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ โดยทำการซักประวัติ ตรวจวัดสัญญาณชีพ วัดองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ด้วย Goniometer ในท่ากางแขนออกทางด้านข้าง (abductor) และท่ายื่นแขนออกไปทางด้านหน้า (flexion) ซึ่งค่าปกติขององศาการเคลื่อนไหวทั้ง 2 ท่า เท่ากับ 170-180 องศา และประเมินค่าระดับความเจ็บปวดด้วย visual analogue scale (VAS) ซึ่งมีค่าคะแนนตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 10 คือ ไม่เจ็บปวดเลยถึงเจ็บปวดมากที่สุด โดยทำการวัดองศาการเคลื่อนไหวและประเมินค่าระดับความเจ็บปวดเปรียบเทียบกันระหว่างก่อนกับหลังการนวดรักษา และก่อนกับหลังการนวดรักษา 1 สัปดาห์ (การติดตามผล) โดยจุดนวดรักษามีทั้งหมด 15 ตำแหน่ง (ดังรูปที่ 1) กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการนวดวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง นวดติดต่อกัน 3 วัน และมีการนัดติดตามผลเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ เพื่อดูประสิทธิภาพการรักษาจากค่าเฉลี่ยขององศาการเคลื่อนไหวข้อไหล่และค่าเฉลี่ยของระดับความเจ็บปวด

รูปที่ 1 แสดงตำแหน่งการนวดรักษาอาการไหล่ติดทั้ง 15 ตำแหน่ง (ในกรณีไหล่ขวา)

จุดที่ 1 จุดมุมบนของสะบักด้านใน          

จุดที่ 2 จุดกลางสะบักด้านใน      

จุดที่ 3 จุดมุมล่างของสะบักด้านใน          

จุดที่ 4 จุดโค้งคอ (แนวสายสร้อยพาดผ่าน)

จุดที่ 5 จุดกึ่งกลางบ่า                       

จุดที่ 6 จุดบนหัวไหล่

จุดที่ 7 จุดกึ่งกลางต้นแขนด้านนอก        

จุดที่ 8 จุดข้อศอกด้านนอก

จุดที่ 9 จุดหน้าคอ

จุดที่ 10 จุดกึ่งกลางเหนือไหปลาร้า

จุดที่ 11 จุดกึ่งกลางใต้ไหปลาร้า

จุดที่ 12 จุดหน้าหัวไหล่

จุดที่ 13 จุดใต้รักแร้ด้านหลัง

จุดที่ 14 จุดใต้รักแร้ด้านหน้า

จุดที่ 15 จุดกึ่งกลางใต้รักแร้

ผลและการอภิปรายผลการวิจัย

          จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาด้วยอาการหัวไหล่ติดเป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 55 ปี ประกอบอาชีพรับราชการ ซึ่งสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในท่าเดิมซ้ำๆ กัน หรือการใช้งานเป็นประจำของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อไหล่และองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง

ตารางที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ยขององศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในท่ากางแขนออกทางด้านข้าง ท่ายื่นแขนออกไปทางด้านหน้า และค่าเฉลี่ยของคะแนนระดับความเจ็บปวด ในช่วงก่อนการนวดรักษา หลังการนวดรักษาและหลังการนวดรักษา 1 สัปดาห์ ของกลุ่มตัวอย่างหัวไหล่ติดจำนวน 30 ราย

การประเมิน

ค่าเฉลี่ยก่อนการนวดรักษา
(ค่าช่วง)

ค่าเฉลี่ยหลังการนวดรักษา
(ค่าช่วง)

ค่าเฉลี่ยหลังการนวดรักษา 1 สัปดาห์
(ค่าช่วง)

องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในท่ากางแขนออกทางด้านข้าง

97.3 (70-134)

144.8 (85-170)

155.0 (110-170)

องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในท่ายื่นแขนออกไปทางด้านหน้า

102.5 (45-140)

149.3 (120-170)

155.0 (110-170)

คะแนนระดับความเจ็บปวด

6.4 (3-8)

2.6 (0-7)

2.5 (0-6)

          จากผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าการนวดรักษาตามวิธีการของหมอคณิต เขมะพันธุ์มนัส มีผลต่อองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่และคะแนนระดับความเจ็บปวด โดยพบว่าหลังการนวดรักษาครั้งที่ 3 และหลังการนวดรักษา 1 สัปดาห์เปรียบเทียบกับก่อนการนวดรักษา พบว่าอาการหัวไหล่ติดของกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินโรคที่ดี ซึ่งสามารถดูประสิทธิผลของการรักษาได้จากองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ที่เพิ่มขึ้นในทั้ง 2 ท่าของการประเมิน และคะแนนระดับความเจ็บปวดที่ลดลง  โดยวิธีการนวดรักษาทั้ง 15 ตำแหน่งเป็นการกดและยืดคลายมัดกล้ามเนื้อบริเวณรอบสะบัก บ่า ต้นแขน ต้นคอ หน้าอกและรักแร้ ซึ่งกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวของต้นแขน และสะบัก ซึ่งกระดูกต้นแขนและกระดูกสะบักเป็นองค์ประกอบของข้อไหล่และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ นอกจากนี้ประโยชน์ของการนวดรักษาช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวและมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น จึงสามารถลดระดับความเจ็บปวดและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้

          ดังนั้น การนวดตามวิธีการศึกษาในครั้งนี้ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการหัวไหล่ติดได้ และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยให้อยู่คู่ประเทศไทยต่อไป

 

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy