ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ เอกสมทราเมษฐ์
ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ความสำคัญของปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี
ปาล์มน้ำมันจัดเป็นพืชน้ำมันอุตสาหกรรมชนิดเดียวของประเทศไทยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง มะพร้าว เป็นต้น โดยมีมูลค่าทางการตลาดภายในประเทศในปี พ.ศ. 2557 สูงมากกว่า 1.8 แสนล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างอาชีพและการจ้างงานตลอดห่วงโซ่ในภาคการผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ภายในประเทศทั้งด้านบริโภค อุปโภคและพลังงาน ทำให้ความต้องการใช้เมล็ดปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีภายในประเทศสูงถึงปีละประมาณ 12 ล้านเมล็ดต่อปี
เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตยาวนานถึง 30 ปี ดังนั้นหากเกษตรกรมีการใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพหรือพันธุ์ที่เก็บเมล็ดจากโคนต้นปาล์มมาปลูก จะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรลดลง รวมทั้งยังทำให้เกิดความอ่อนแอกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยรวมของประเทศ
ดังนั้น นักวิจัยจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ทำการพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อให้มีผลผลิตสูง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประทศไทย โดยมีองค์กรที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และโครงการมหาวิทยาลัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ลักษณะทั่วไปและลักษณะพิเศษของพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 คือ
1) ลักษณะทั่วไปของพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1
1.1) เริ่มให้ผลผลิตทะลายเก็บเกี่ยวได้เมื่อปาล์มอายุ 36 เดือนหลังจากปลูกลงแปลง
1.2) ลักษณะทะลายมีรูปร่างกลมรี มีหนามสั้น
1.3) ลักษณะสีผลปาล์มที่ยังไม่สุกมีสีดำ และเปลี่ยนเป็นสีแดง-ส้ม เมื่อผลสุกเต็มที่
1.4) ลักษณะผล มีรูปร่างผลกลมรี
2) ลักษณะพิเศษของพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1
ผลผลิตทะลายและผลผลิตน้ำมันสูง เนื้อในมล็ดมีขนาดปานกลาง และเป็นพันธุ์ที่มีพันธุกรรมที่สามารถปรับตัวเข้ากับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และสภาพแห้งแล้ง เนื่องจากต้นพ่อและต้นแม่พันธุ์ถูกคัดเลือกภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว
ผลกระทบของปาล์มน้ำมันพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1
1. ผลกระทบต่อชุมชนเชิงเศรษฐกิจ
1) ลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ปีละประมาณ 250,000-500,000 เมล็ดงอก คิดเป็นมูลค่าประมาณ ปีละ 9-18 ล้านบาท (ราคาเมล็ดงอกนำเข้าจากต่างประเทศ 35 บาท/เมล็ด) และคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก ประมาณปีละ 11,000-22,000 ไร่ โดยใช้ระยะปลูก 9 x 9 x 9 ม. หรือ 22 ต้น/ไร่
2) เมล็ดงอกพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 สามารถเพิ่มมูลค่าโดยการผลิตเป็นต้นกล้ามีมูลค่าประมาณปีละ 30-60 ล้านบาท (ราคาต้นกล้า 120 บาท/ต้น)
3) ผลผลิตทะลายต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น 30%ของผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ และเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% เช่นกัน
นอกจากนี้พันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 ให้ผลผลิตทะลายไม่น้อยกว่า 4 ตัน/ไร่/ปี ที่อายุ 7-8 ปี ซึ่งจะสูงกว่าพันธุ์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาของพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งเท่า (เมล็ดพันธุ์จากโคนต้นให้ผลผลิตประมาณ 1.5-2 ตัน/ไร่/ปี หรือบางครั้งไม่ให้ผลผลิตเลย) ทำให้ผู้ปลูกมีรายได้สูงกว่าพันธุ์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาของพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งเท่าเช่นกัน
4) โรงงานสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์มมีรายได้เพิ่มขึ้น
การที่ผลผลิตทะลาย/ไร่/ปี ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมมีวัสดุพลอยได้อื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น เช่น กะลาปาล์ม ทะลายเปล่า กากตะกอนปาล์ม เป็นต้น
2. ผลกระทบต่อชุมชนเชิงสังคม
เกษตรกรและเอกชนมีทางเลือกในการใช้ปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีมากขึ้น และมีทัศนคติที่ดีต่อปาล์มน้ำมัน ทั้งในด้านวิชาการของไทยและการพึ่งพาตนเอง ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น
3. ผลกระทบต่อชุมชนเชิงความรู้และบริการวิชาการ
เกษตรกรและเอกชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางวิชาการในด้านการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตปาล์มน้ำมันของไทยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อยอดงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ของไทยเพื่อพัฒนาให้ได้พันธุ์ปาล์มน้ำมันใหม่ๆ ที่ดีกว่าพันธุ์เดิมในอนาคต