แวมไพร์แปลงทองอารีย์ - แมลงหางดีดชนิดใหม่ สัตว์ใหม่ของโลกพบโดยนักวิจัยคณะวิทย์

 นักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ม.อ. ร่วมกับนักวิจัยสัตว์ป่าจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา ค้นพบ “ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์” และ “แมลงหางดีดชนิดใหม่ 6 ชนิด” โดยเป็นค้างคาวและแมลงหางดีด ชนิดใหม่ของโลกพบในเขตภาคใต้ของไทย การศึกษาครั้งนี้ ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และสามารถเข้าชมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสัตว์ดังกล่าวได้ที่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติชุด “Sirindhornae new species” ที่จัดเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวาระที่ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์

 

 

“ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์” ค้างคาวสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก พบโดยคณะนักวิจัยนำโดย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eudiscoderma thongareeae มีชื่อไทยว่า ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์ โดยค้างคาวสกุลใหม่นี้จัดอยู่ในวงศ์ค้างคาวแวมไพร์แปลง แต่มีลักษณะที่แตกต่างจากอีก 4 สกุลที่มีในวงศ์นี้ โดยมีแผ่นจมูกเป็นรูปวงกลม จึงตั้งชื่อสกุลว่า Eudiscoderma ที่หมายถึงแผ่นจมูกเป็นรูปวงกลมคล้ายแผ่นดิสก์ และตั้งชื่อชนิด เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณศิริพร ทองอารีย์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา ผู้ทำงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคใต้มาตลอดจนกระทั่งเกษียนอายุราชการ

ส่วน “แมลงหางดีดชนิดใหม่ของโลก 6 ชนิด” พบโดย ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ และคณะ ร่วมกับ Dr. Louis Deharveng จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส แมลงหางดีดชนิดใหม่ดังกล่าวพบจาก 2 สกุล คือ สกุล Cyphoderopsis หรือสกุลแมลงหางดีดหางหนาม ซึ่งเป็นการพบครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบเฉพาะบริเวณคาบสมุทรไทยตอนล่างของคอคอดกระลงมา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสำคัญของคอคอดกระที่เป็นรอยต่อสำคัญของการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตตามหลักสัตว์ภูมิศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเด่นคือ มีส่วนของหางที่มีหนามแข็งโผล่ขึ้นมาตลอด โดยพบจำนวน 4 ชนิด และตั้งชื่อตามสถานที่ที่ค้นพบ คือ แมลงหางดีดหางหนามพังงา พบบริเวณซากใบไม้ ในป่าของอำเภอเมือง จังหวัดพังงา แมลงหางดีดหางหนามท่าชนะ พบในถ้ำใหญ่ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี แมลงหางดีดหางหนามเขาพัง และ แมลงหางดีดหางหนามพนม พบในถ้ำเขาพัง อำเภอพนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี

นอกจากนี้ยังค้นพบแมลงหางดีดในสกุล Cyphoderus หรือ สกุลแมลงหางดีดหางขนนก ซึ่งพบแพร่กระจายในถ้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศมี 2 ชนิด คือ แมลงหางดีดหางขนนกสงขลา พบในถ้ำเขานุ้ย อำเภอรัฐภูมิ และ แมลงหางดีดหางขนนกเขาฉกรรจ์ พบในถ้ำมืด อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งลักษณะเด่น คือ มีเกล็ดบางปกคลุมทั่วตัวและบริเวณส่วนของหางมีลักษณะคล้ายขนนก

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :http://www.sc.psu.ac.th/New56/TH/News/SlideImageDetail.asp?NewsID=1046


ณศิริพร ทองอารีย์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา


ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาฯ

 

 

 

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy