นางสาวนฤมล โชติช่วง , รศ.ดร.เสกสรร สุธรรมานนท์ , ดร.กันยา อัครอารีย์ และ นางสาวพัลลภัช เพ็ญจำรัส
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail:
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
จากการที่ประเทศไทย ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำมาหลายปี ทำให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำยางพาราไปแปรรูป หมอนยางพารา ก็เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปยางพารา และได้รับความนิยม จนสามารถส่งออกไปยังนักท่องเที่ยวชาวจีน และญี่ปุ่น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูง เพราะมีคุณสมบัติที่ดี มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง ไม่ทำให้ปวดเมื่อย ช่วยกระจายแรงกดทับ ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต รองรับและโอบกระชับศีรษะอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการระบายอากาศที่ดี ทำให้ไม่อับชื้น
และจากความนิยมของหมอนยางพารา ทำให้คณะวิจัยเล็งเห็นถึงปัญหาทางการตลาด การผลิตและการขาย ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตได้ถึงปัญหาหลักสองด้านที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหมอนยางพารา คือ ด้านการจัดการโลจิสติกส์ และด้านการตลาด ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ และผู้บริโภคมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่สูงขึ้น ทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การจัดการคำสั่งซื้อ จึงทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน งานวิจัยนี้จึงได้ประยุกต์แนวคิดและหลักการของโลจิสติกส์การตลาด (Marketing Logistics) มาใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา และกระบวนการโลจิสติกส์ในโซ่อุปทาน เพื่อให้รู้ถึงโครงสร้างการตลาดและความต้องการผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค นอกจากนี้ การบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด ลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ผลิตรายย่อย แต่ยังส่งผลถึง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ องค์การสวนยาง สหกรณ์กองทุนสวนยาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกด้วย