ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี , ดร.วิสุทธิ์ แก้วสกุล ,
พ.ต.อ.กฤษฎากร เชวงศักดิ์โสภาคย์, นางสาวบงกช เศวตามร์ และ น.ส.ธีรรัตน์ เส้งสุข
คณะวิทยาศาสตร์
E-mail:
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เครื่องมือที่ใช้เก็บหลักฐานวัตถุพยานแบบ 3 มิติ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ปูนพลาสเตอร์ ดินน้ำมันและ น้ำยาลอกลาย มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานาน เสียรูปง่าย และหากเป็นสินค้านำเข้าก็มีราคาแพง คณะผู้วิจัยจึงพัฒนา “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกแบบ 3 มิติ” ขึ้นเพื่อใช้เก็บหลักฐานร่องรอย 3 มิติ เช่น tool marks และการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล โดยการพัฒนาคุณสมบัติของยางพาราให้เปลี่ยนสภาพได้และนำไปใช้ในที่เกิดเหตุได้
ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกสามารถแปรรูปได้โดยอาศัยการให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 75 oC โดยแหล่งความร้อนที่หาได้ง่าย เมื่อได้รับความร้อน จะเปลี่ยนจากวัสดุคล้ายยางเป็นอ่อนนุ่มคล้ายดินน้ำมัน แล้วนำไปกด ณ จุดที่ต้องการลอกลายไว้ รอจนวัสดุเย็นตัวลง ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที และปล่อยให้วัสดุเย็นตัวลง ก็จะได้ภาพพิมพ์ 3 มิติ ตามร่องรอยของพื้นที่หรือวัตถุนั้น และจะคงรูปเช่นเดิมจนกว่าจะได้รับความร้อนที่ 75 oC อีกครั้งหนึ่ง ในงานพิสูจน์หลักฐาน สามารถลอกลายรูกระสุนปืน ร่องรอยการงัดแงะที่เกิดจากการใช้เครื่องมือขนาดเล็ก รวมทั้งงานด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจากศพ เช่น ลายนิ้วมือ ฟัน ฯลฯ
ข้อเด่นของยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก คือ สามารถลอกลายแบบ 3 มิติได้ โดยสามารถนำไปเป็นแม่พิมพ์เพื่อการพิสูจน์หลักฐาน ใช้งานในภาคสนามได้ง่าย ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ผู้ใช้ไม่ต้องมีทักษะความชำนาญสูง เมื่อยางคงรูปภายในเวลาไม่กี่นาที ลายที่ลอกจะไม่เปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นทำให้พกพาไปทำการพิสูจน์ต่อในห้องปฏิบัติการได้ง่าย มีความยืดหยุ่น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ประกอบกับเป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทย และสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ให้ตอบสนองความต้องการด้านอื่นๆ ด้วยต้นทุนและราคาขายที่แข่งขันได้จึงมีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในหลายพื้นที่ได้นำไปทดสอบการใช้งานจริง และมีหน่วยงานที่สนใจจะนำไปประยุกต์เพื่อใช้ในงานด้านต่างๆ ทั้งในงานด้านการแพทย์และการกีฬา, การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม, การก่อสร้าง เป็นต้น
งานวิจัยนี้ได้รับอนุสิทธิบัตร เลขที่ 11992 และยังได้รับรางวัลนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โลห์เกียรติยศจาก Malaysian Association of Research Scientists (MARS) ประเทศมาเลเซีย และเหรียญเงินสิ่งประดิษฐ์ จากสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Invention Promotion Association; KIPA) Special Prize กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อความมั่งคั่ง โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลชนะเลิศ (ประเทศ) ประเภทนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ – ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับอุทธยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นต้น