ยาน้ำสารสกัดใบทองพันชั่งที่เตรียมด้วยวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับทารักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง

รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 รางวัล 

1. Gold Medal จาก ITEX 2016, มาเลเซีย

2. Special Award จาก World Invention Intellectual Property Association, ไต้หวัน

        ยาสมุนไพรจากสารสกัดใบทองพันชั่งได้บรรจุอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ. 2554 จนถึงฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2558) ในรูปแบบ “ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง” โดยมีสรรพคุณใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา กลากเกลื้อน และ น้ำกัดเท้า

        อย่างไรก็ตาม ตำรับยาทิงเจอร์ทองพันชั่งในบัญชียาหลักแห่งชาติยังไม่มีการกำหนดชนิดและปริมาณสารสำคัญในการออกฤทธิ์รักษาที่แน่นอน  ระบุไว้แต่เพียงว่า “ตัวยาสำคัญในยาทิงเจอร์ทองพันชั่งประกอบด้วยสารสกัดเอทิลแอลกอฮอล์จากใบทองพันชั่งสด 10% โดยน้ำหนัก/ปริมาตร” เท่านั้น ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกถึงปริมาณตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคนี้ คือ ไรนาแคนธิน-ซี (rhinacanthin-C) และสารสำคัญดังกล่าวอาจมีปริมาณแปรปรวนได้ในแต่ละครั้งที่ผลิตยา เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อปริมาณสารสำคัญในใบทองพันชั่ง เช่น สถานที่เพาะปลูก อายุ ฤดูการเก็บเกี่ยว และกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพของยาทิงเจอร์ทองพันชั่งที่ผลิตขึ้นในแต่ละครั้ง (batch) ดังนั้น การที่ยังไม่มีการกำหนดชนิดและปริมาณตัวยาสำคัญในตำรับยาจากสารสกัดใบทองพันชั่ง จึงยังเป็นจุดอ่อนในการผลิตยาที่ต้องได้รับการพัฒนา  เพื่อให้ได้ยาที่มีตัวยาสำคัญเพียงพอต่อการรักษาและเท่ากันทุกครั้งที่ผลิตยา นอกจากนี้ยาในรูปแบบทิงเจอร์ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่ทา โดยเฉพาะในบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนหรือบริเวณที่มีแผลเปิด และทำให้ผิวแห้งจึงทำให้อาการคันเพิ่มขึ้น  ทำให้ผู้ที่ใช้ยาไม่ยอมรับในการใช้ยานี้ในครั้งต่อไป  จึงต้องมีการพัฒนาตำรับยาเพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์และเพิ่มสารที่ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ในตำรับ เพื่อลกการระคายเคืองผิวหนัง

        การประดิษฐ์นี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนากรรมวิธีการเตรียมสารสกัดใบทองพันชั่ง โดยใช้ตัวทำละลายและวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green extraction) โดยการเตรียมสารสกัดจากใบทองพันชั่งด้วยตัวทำละลายที่มีอยู่ในตำรับยาน้ำอยู่แล้ว และใช้วิธีการสกัดที่ประหยัดเวลาและพลังงาน รวมถึงลดขั้นตอนในการเตรียมสารสกัด สามารถนำสารสกัดมาใช้เตรียมตำรับยาน้ำได้โดยที่ไม่ต้องระเหยตัวทำละลายออกจากสารสกัด ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตยา  และพัฒนาสูตรตำรับยาน้ำใช้เฉพาะที่ (topical solution) โดยกำหนดปริมาณตัวยาสำคัญไรนาแคนธิน-ซี ในตำรับยาให้เพียงพอต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค และที่สำคัญคือสามารถควบคุมปริมาณของไรนาแคนธิน-ซีในสารสกัดที่เตรียมได้ในแต่ละครั้ง โดยการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคไฮเพอร์-ฟอร์แมนซ์ ลิควิด โครมาโตกราฟี (high performance liquid chromatography, HPLC) ทำให้สามารถกำหนดปริมาณที่แน่นอนของสารออกฤทธิ์ไรนาแคนธิน-ซีในสูตรตำรับยาได้ และในสูตรตำรับยามีปริมาณไรนาแคนธิน-ซีที่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรค เพื่อให้ได้ตำรับยาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ยามากยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับยาสมุนไพรสู่มาตรฐานยาในระดับสากล

รูปที่ 1

 

        ดังนั้นการประดิษฐ์นี้ได้ก่อให้เกิดกรรมวิธีการเตรียมสารสกัดใบทองพันชั่งที่มีไรนาแคนธิน-ซี และสูตรตำรับยาน้ำใช้เฉพาะที่ ที่เตรียมจากสารสกัดใบทองพันชั่งที่มีไรนาแคนธิน-ซี โดยสกัดผงใบทองพันชั่งด้วยสารละลายกลีเซอริน (glycerin) ในเอธานอล (ethanol) ความเข้มข้น 20% ถึง 30 (v/v) โดยสกัดด้วยวิธีการใช้คลื่นไมโครเวฟช่วยในการสกัดสาร (microwave-assisted extraction) สารสกัดที่ได้มีปริมาณของไรนาแคนธิน-ซีไม่น้อยกว่า 2.0 มก./มล. ไม่มีสีเขียวของคลอโลฟิลล์ (chlorophyll) สามารถนำสารสกัดที่ได้มาเตรียมยาน้ำใช้เฉพาะที่ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการระเหยตัวทำละลายออก และได้สูตรตำรับตำรับยาน้ำใช้เฉพาะที่มีสารไรนาแคนธิน-ซี 0.1% (w/v) สำหรับรักษาโรคผิวหนัง หรือ โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย โดยลดการก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ตำรับยาน้ำมีความคงตัวดีกว่าในรูปแบบยาทิงเจอร์มาก

รูปที่ 2

English Version

 

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy