นพ.ธาราณ์ ตันธนาธิป, นพ.คเณศ กาญจนประดิษฐ์, รศ.นพ.ศักดิ์ชัย แซ่เฮ้ง, ผศ.นพ.ฐากูร เอี้ยวสกุล และ นพ.อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย
หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: tsus4@hotmail.com
โรคฝีในสมอง (Brain abscess) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายในสมอง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคหัวใจชนิดเขียว (left to right shunt congenital heart disease), ไซนัสอักเสบ หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น การรักษาฝีในสมอง ประกอบด้วย การรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด อัตราตายจากโรคฝีในสมองพบได้ร้อยละ 20 นอกจากนี้ผลการรักษาและพยากรณ์ของโรคนี้ ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ สภาพร่างกายผู้ป่วย, ชนิดของเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ เชื้อรา เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำนายผลของการรักษาโรคฝีในสมอง และวิธีการวิจัยเป็นการศึกษาทบทวนย้อนหลัง ผู้ป่วยโรคฝีในสมองระหว่างปี พ.ศ.2542 –พ.ศ.2556
ผลการศึกษา มีผู้ป่วย 114 คนในการศึกษานี้ ปัจจัยที่ทำนายต่อ ผลการรักษาที่ดี ได้แก่ คะแนนระดับความรู้สึกตัวกลาสโกว์อยู่ในช่วง 13-15 (OR 14.64; 95% CI 2.70-79.34; p =0.02) ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่ทำนายต่อ ผลการรักษาที่ไม่ดี ได้แก่ ฝีในสมองชนิดเชื้อรา (OR 40.81; 95% CI 3.57-466.49; p =0.003) และการแตกเข้าโพรงสมองของฝีในสมอง (Intraventricular rupture of a brain abscess) (OR; 5.50; 95% CI 1.34-22.49; p =0.017) และการเพิ่มขึ้นของระยะห่างระหว่างฝีกับโพรงสมอง ยิ่งลดโอกาสการเกิดการแตกเข้าโพรงสมองของฝีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต (OR 0.62; 95%CI 0.45-0.87; p=0.005) นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยทุกคนที่มีการแตกเข้าโพรงสมองมีระยะห่างระหว่างฝีกับโพรงสมองน้อยกว่า 7 มม. (p <0.000)
โดยสรุป จากผลการศึกษาพบว่าการรักษาฝีในสมองนั้น ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาพทางคลินิกของผู้ป่วยในระดับที่ดี, ชนิดของเชื้อโรค และ การแตกเข้าโพรงสมองของฝีในสมองซึ่งปัจจัยนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการผ่าตัด ดังนั้น ฝีในสมองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแตกเข้าโพรงสมอง จึงเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญข้อหนึ่งในการพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด
(ก) ภาพถ่ายรังสี MRI สมองผู้ป่วยฝีในสมองที่แตกเข้าโพรงสมอง
(ข) ภาพถ่าย Diffusion weighted imaging แสดงฝีที่แตกเข้าโพรงสมอง
(ค) ลักษณะฝีที่แตกเข้าโพรงสมองที่ได้จากการผ่าตัด aspiration