สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำนักวิจัยและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019)” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งถือเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ฉลองครบรอบ 60 ปี โดยนำผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก
การจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ” โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานสำคัญตามพันธกิจของ วช. เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่นสร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดย วช. ได้มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2517
สำหรับผลงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำไปจัดแสดงในปีนี้ เน้นไปที่ผลงานวิจัยส่งเสริมมูลค่ายางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของภาคใต้ จำนวน 5 ผลงานคือ
1.ผลิตภัณฑ์น้ำมันทำความสะอาดเครื่องสำอางจากน้ำมันเมล็ดยางพารา
นักวิจัย : รศ.ดร.ภญ. ธนภร อำนวยกิจ, ผศ.ดร.ภญ. สิริรัศมิ์ ปิ่นสุวรรณ และนายปณิธิ รักนาม คณะเภสัชศาสตร์
จากปัญหาราคายางตกต่ำทำให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผลที่มาจากยางพารา เมล็ดยางซึ่งเป็นผลิตผลอันเกิดจากต้นยางที่ยังมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อย และไม่แพร่หลาย จึงมีความน่าสนใจในการสกัดน้ำมันจากเมล็ดยางเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในทางเครื่องสำอาง โดยใช้กระบวนการสกัดด้วยวิธี Solvent Extraction ที่ได้ปริมาณของน้ำมันมากที่สุด และมีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในทางเครื่องสำอาง จากนั้นทำการประเมินคุณสมบัติของน้ำมันทั้งทางด้านกายภาพและเคมี รวมถึงความปลอดภัย เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้อย่างมีคุณภาพ ผสมผสานการนำเทคโนโลยีการเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันทำความสะอาดเครื่องสำอางที่ใช้อัตราส่วนสารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุหลายๆ ชนิดเข้าด้วยกัน เกิดเป็นโลชั่นน้ำนมเมื่อน้ำมันสัมผัสกับน้ำ และสามารถเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันทำความสะอาดเครื่องสำอางที่ทำความสะอาดผิวหน้าได้อย่างหมดจด ชะล้างเครื่องสำอางได้โดยไม่ต้องทำความสะอาดซ้ำ และยังคงความชุ่มชื้นแก่ผิว พร้อมทั้งบำรุงเพิ่มความสดชื่นและผ่อนคลายให้กับผิวหน้าด้วยกลิ่นที่เป็นธรรมชาติ และยังช่วยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากเมล็ดยางอย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเพิ่มศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากวัตถุดิบภายในประเทศ
2.แผ่นยางล่อแมลงวันแตง
นักวิจัย : ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ , ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี , รศ.ดร.อรัญ งามผ่องใส , รศ.ดร.วิวัฒน์ พิชญากร , นางสาวยาวารีย๊ะห์ สาเมาะ , นางสาวธีรรัตน์ เส้งสุก , นางสาวคอฏีย๊ะ เถาวัลย์ และ นางสาวรูเฟียะห์ มะลี คณะทรัพยากรธรรมชาติ
เป็นการนำน้ำยางพาราธรรมชาติมาพัฒนาโดยใช้เทคนิคพิเศษ แปรรูปและขึ้นรูปเป็นแผ่นยางพาราที่ผสมสารฟีโรโมนล่อแมลงวันแตง (cue lure) แผ่นยางพาราสามารถกักเก็บและปลดปล่อยสารได้อย่างยาวนาน ใช้สารฟีโรโมนในปริมาณน้อย มารถดึงดูดแมลงวันแตงได้ยาวนานถึง 30 วัน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมแมลงวันแตง Zeugodacus cucurbitae ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับใช้งานในพืชผักและผลไม้ตระกูลแตง ได้แก่ แตงกวา บวบ มะระ ฟักข้าว และแตงโม เป็นต้น
3.ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม
นักวิจัย : ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์
ปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากถวายเทียมมีอยู่หลากหลายชนิด และประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ได้เองในเชิงอุตสาหกรรม จึงต้องนำเข้าแต่เพียงอย่างเดียว และมีราคาแพง ในขณะที่ภาครัฐต้องเสียงบประมาณสูง และโรงพยาบาลหลายแห่งได้พยายามดัดแปลงอุปกรณ์ใช้แทนถุงทวารเทียมในรูปแบบต่างๆ แต่ประสบปัญหาระหว่างการใช้งานจริง และมีภาวะแทรกซ้อน ทั้งระคายเคือง แป้นรั่วซึม หลุดง่าย และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ขณะที่ยอดผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ถุงทวารเทียมเฉพาะภาคใต้มีมากกว่า 1 แสนคน และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน กระทั่งทางทีมวิจัยได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน จนสามารถคิดค้น และประดิษฐ์ THAI Colostomy Bags หรือ ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผลิตมาจากยางพาราภายในประเทศได้สำเร็จ และมีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ หลังต้องใช้เวลามานานกว่า 5 ปี และได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ พร้อมกับจดสิทธิบัตร ก่อนที่จะผ่านขึ้นตอนสุดท้ายคือการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
4.อุปกรณ์ช่วยจับขวดยา
นักวิจัย : ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา
อุปกรณ์ช่วยจับขวดยาที่ประกอบจากอลูมิเนียมชนิดงอได้ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในการให้แรงบีบและฟองยางพาราเป็นตัวกระจายแรงกดที่เกิดขึ้นบนขวดยา อุปกรณ์ช่วยจับขวดยาที่สามารถจับขวดยาได้ทุกขนาดสิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ช่วยจับขวดยาเพื่อความปลอดภัยในการทำหัตถการทางคลินิกเนื่องจากสมบัติเฉพาะของฟองยางพาราที่มีนิ่มและความยืดหยุ่นสูงมากกว่าวัสดุอื่น ๆ สามารถแนบสนิทกับขวดยาได้ทุกขนาด และลดอุบัติเหตุของผู้รักษาพยาบาลในระหว่างปฏิบัติหัตถการทางคลินิกได้
5.วัสดุซับแรงกระแทกผลิตจากยางพารา
นักวิจัย : ผศ.ดร.พรศิริ แก้วประดิษฐ์ , ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกร์สุรปราณี , นางสาวนุสรา แหละหมัน , นางสาวอรัญญา คงชู และนางสาวพรรณราย ชลธาร คณะวิทยาศาสตร์
วัสดุซับแรงกระแทกผลิตจากยางพาราถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มสมบัติการดูดซับแรงกระแทกของยางพารา ผลทดสอบความสามารถการดูดซับแรงกระแทกที่แรงเริ่มต้น 7,500 นิวตัน (10 จูล) ด้วยเครื่องทดสอบ Drop test พบว่า วัสดุซับแรงผลิตจากยางพาราซึ่งขึ้นรูปเป็นสนับเข่า (NRF และ NRI) สามารถดูดซับแรงกระแทกได้สูงถึง 71 – 74% ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสนับเข่าทางการค้าที่มีสมบัติรับแรงกระแทก (ดูดซับได้ 70%) แต่วัสดุซับแรงผลิตจากยางพารามีราคาถูกกว่าถึง 3 – 4 เท่า และเมื่อทดสอบชิ้นงานกว้าง x ยาว x หนา = 8 x 8 x 1.5 ซม.ที่แรงเริ่มต้นประมาณ 11,000 นิวตัน (22 จูล) (ทดสอบที่สถาบันยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ) พบว่า วัสดุซับแรงจากยางพาราสามารถดูดซับแรงได้ราว 70% โดยชิ้นงานเสียรูปหลังทดสอบมีความลึกเพียง 0.7 มม.
ข่าว / ภาพ : สุธาวดี นาคะโร